กระชายต้านโควิดได้ จริงหรอ?
ช่วงนี้น้ำกระชายกำลังฮิตมาก เพราะมีผลวิจัยบอกว่า กระชายสามารถฆ่าเชื้อ Covid-19 ได้ เราจึงได้รวบรวมข้อมูลกระชายต้านโควิดมาบอกเล่าให้ฟังอย่างละเอียดยิบเลยค่ะ
ภาพจาก www.thai-best.com
กระชายคืออะไร
กระชาย เป็นพืชในวงศ์ขิง (Zingiberaceae) มี 3 ชนิด คือ กระชายดำ กระชายแดง และกระชายขาว (หรือกระชายเหลือง) ลักษณะพิเศษคือเป็นพืชที่มีเหง้าและรากสะสมอาหารโตใต้ดิน ซึ่ง 2 ส่วนนี้เป็นส่วนที่นำมาประกอบเป็นอาหารที่คนไทยคุ้นเคยดี ไม่ว่าจะเป็นแกงเผ็ด หรือผัดพริกต่าง ๆ
อย่างที่รู้กันดีว่ากระชายมีสรรพคุณช่วยรักษาเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการปรับสมดุลฮอร์โมน บำรุงหัวใจ บำรุงสมรรถภาพทางเพศ บำรุงมดลูก และอีกมายมาย แต่วันนี้เราจะมาเจาะลึกเรื่องของ กระชายและโรคร้าย Covid-19 ที่กำลังเป็นกระแสช่วงนี้กัน มาพิสูจน์กันค่ะว่า กระชายสามารถต้านโควิดได้จริงหรอ?
กระชายต้านโควิด
จากการร่วมมือระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์ความรู้เป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ได้ทำการทดลองหาสารสกัดในกระชายขาวที่มีฤทธิ์ต่อเชื้อ Covid-19 ปรากฏพบว่า จากสารสกัลทั้งหมด 127 ตัว มีสาร 2 ตัวที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ Covid-19 ได้ นั่นก็คือ แพนดูราติน เอ (Panduratin A) และ พิโนสโตรบิน (Pinostrobin)
ภาพจาก Youtube สารสกัดกระชายขาว ต้าน COVID-19
ประสิทธิภาพสารสกัดกระชายขาวในการต้าน Covid-19 มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อไวรัสได้ถึง 100% โดยจะมี 2 รูปแบบ คือ
1 ลดจำนวนเซลล์ที่ติดเชื้อ Covid-19 จาก 100% ไปถึง 0%
2 ยับยั้งการผลิตตัวไวรัสตัวใหม่ออกจากเซลล์ที่ติดเชื้อ Covid-19 ได้ถึง 100%
จากการทดลองสรุปว่า กระชายสามารถฆ่าเชื้อ Covid-19 ได้จริง แต่การทดลองนี้ยังเป็นการทดลองในระดับเซลล์เท่านั้น ยังต้องทำการทดลองต่อไปว่ามนุษย์ต้องได้รับสารสกัดนี้ในปริมาณเท่าใดถึงจะเพียงพอต่อการต้านเชื้อในร่างกายของมนุษย์ได้
ภาพจาก Youtube สารสกัดกระชายขาว ต้าน COVID-19
ภญ.ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อธิบายว่า ถึงแม้กระชายจะมีสารแพนดูราทิน เอ (Panduratin A) ที่ยับยั้งการเพิ่มไวรัสโควิดได้ แต่ก็ยังไม่สามารถนำมาประยุกต์เพื่อรักษาโควิดได้จริง ทั้งนี้ทางคณะผู้วิจัยเองก็ยังไม่ทราบถึงปริมาณที่ต้องใช้เพื่อรักษา แต่ถ้าหากคำนวณคร่าว ๆ ว่าจะต้องกินให้ได้ขนาดยาเท่ากับที่ศึกษาวิจัย ก็คงประมาณ 250 กรัม ซึ่งในปริมาณมากขนาดนี้ บางคนอาจจะเกิดอาการจะระคายเคืองกระเพาะอาหารก็เป็นได้
(ข้อมูลจาก ชัวร์ก่อนแชร์)
ถึงแม้กระชายจะไม่ใช่แนวทางหลักในการรักษาโรค Covid-19 แต่ก็สามารถเลือกใช้พืชผักชนิดนี้ช่วยได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นโควิด จะมีความเสี่ยงสูงหรือมีความเสี่ยงต่ำ แต่ถ้าหากเริ่มมีอาการคล้ายจะเป็นหวัด ก็สามารถบริโภคกระชายเพื่อสร้างความอบอุ่นให้ร่างกายและแก้โรคหวัดได้ทันที หรือจะทานเพื่อสร้างสมดุลในร่างกาย ปรับฮอร์โมน และบำรุงส่วนอื่นของร่างกายก็ยังคงทำได้อยู่
ผู้ป่วย 3 กลุ่มที่ต้องระวังการกินกระชาย
1. ผู้ป่วยโรคไต
โรคไตคือ ภาวะที่ไตทำงานได้น้อยลงหรือผิดปกติจนทำงานไม่ได้ เมื่อไตทำงานลดลง ก็จะส่งผลให้การขับของเสียออกทางปัสสาวะและเหงื่อลดลงเช่นกัน ทำให้เกิดการสะสมของโพแทสเซียมในร่างกายมากจนเป็นพิษ เกิดอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต ใจสั่น หัวใจเต้นผิดปกติ ไปจนถึงหยุดเต้น (ข้อมูล โรงพยาบาลบางปะกอก 8) ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตจึงไม่ควรทานอาหารโพแทสเซียมสูงอย่างกระชายนั่นเอง
2. ผู้ป่วยโรคตับ
โรคตับคือ โรคที่เกิดจากการที่ตับไม่สามารถทำงานได้ปกติ หากตับทำงานได้ไม่ดี จะส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น เลือดออกง่าย และมีของเสียสะสมในร่างกายมาก (ข้อมูล โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ บางแค) การกินอาหารเสริมหรือสมุนไพรเพิ่มจะทำให้ตับทำงานเพิ่มขึ้น ดังนั้นควรทานในปริมาณที่น้อยหรือเลี่ยงการทานก่อนนะคะ
3. ผู้ป่วยท่อน้ำดีอุดตัน
ท่อน้ำดีอุดตันคือ โรคที่เกิดจากการมีนิ่วหรือเนื้องอกไปอุดตันการทำงานของท่อน้ำดี เมื่อท่อน้ำดีอุดตันจนไม่สามารถเดินทางได้ น้ำดีก็จะย้อนไปที่ตับ เข้าสู่กระแสเลือด และไหลกระจายไปทั่วร่างกายไปอยู่ที่เยื่อบุตา และ/หรือน้ำปัสสาวะ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะ สีเข้มซึ่งอาจทำให้ติดเชื้อและเสียชีวิตได้ในที่สุด (ข้อมูล โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์) ซึ่งสำหรับพืชที่ใช้รากหรือลําต้นใต้ดินของพืชในการสะสมอาหาร จะเพิ่มการหลั่งของน้ำดี ถ้าท่อน้ำดีอุดตัน น้ำดีก็จะย้อนไปที่ตับมากขึ้นจนเกิดอันตรายได้
ข้อแนะนำสำหรับการบริโภคสมุนไพรเพื่อรักษาสุขภาพ เราไม่แนะนำให้เลือกทานแต่กระชายเพียงอย่างเดียว ควรมียาหรือสมุนไพรอื่น ๆ ร่วมด้วย เพราะสมุนไพรควรทานสลับเวียนกันไป ไม่ควรทานตัวใดตัวหนึ่งต่อเนื่องกันนาน ๆ
สำหรับกระชายขาวถือเป็นอาหาร ดังนั้นก็ควรบริโภคผ่านอาหารจะเป็นผลดีที่สุด เน้นทานเป็นส่วนประกอบในอาหาร หรือทำเป็นน้ำกระชายก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี เนื่องจากยังไม่มีการวิจัยเพิ่มเติมเรื่องการแปรรูปสารสกัดต่าง ๆ ดังนั้นจึงอยากให้มองว่าการบริโภคกระชายไม่ใช่การรักษาหลักของทุกโรค รวมทั้งโรค Covid-19 แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นค่ะ
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://bit.ly/3uBd0OS
Comments